เมื่อ “อินเดีย”ผงาด สู่การก้าวเดินของ “GPSC” รุกคืบตลาดไฟฟ้าสีเขียว ผนึกกลุ่มอวาด้า ชิงตลาดในอินเดีย 500 กิกะวัตต์ พิชิตเป้าหมาย Net Zero ในปี 2060
โลกแห่งพลังงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั่วโลกให้ความสนใจ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สำหรับประเทศไทยมีเป้าหมายเพื่อบรรลุเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 ขณะที่ธุรกิจก็หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น เป็นภาพสะท้อนถึงแนวโน้มในอนาคตที่กำลังเปลี่ยนไปในโลกพลังงาน โดยเฉพาะ “พลังงานสะอาด” เป็นโจทย์ท้าทายของทุกประเทศทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ “อินเดีย”
อินเดียเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 5 ของโลก รองจากเยอรมนี ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา จากการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของอินเดียในปี 2566 GDP จะมีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 6.1 และในปี พ.ศ.2567 คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 6.8 ส่งผลให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจอินเดีย มีมูลค่าสูงถึง 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปีงบประมาณ 2569 และเพิ่มเป็น 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี พ.ศ. 2573 ขณะที่รายได้ต่อคนของอินเดียจะอยู่ที่ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี พ.ศ.2590-2591 โดยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
นักวิเคราะห์เชื่อว่า ด้วยจำนวนประชากรกว่า 1.4 พันล้านคนมากที่สุดในโลก จากข้อมูลของ World Population Review การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การผลิตในประเทศ มุ่งเน้นพลังงานสะอาดที่ยั่งยืน การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านสินเชื่อส่วนบุคคล ความก้าวหน้าในนวัตกรรมและเทคโนโลยีภายในประเทศ การลงทุนจากนานาชาติ ผลิตภาพแรงงานที่เพิ่มขึ้น และการส่งออกบริการต่างๆ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยให้เศรษฐกิจอินเดียก้าวขึ้นมาท้าทายมหาอำนาจโลก ขณะเดียวกันทั่วโลกต่างจับตาแผนดำเนินงานเพื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ของอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนและสหรัฐฯ
“นายกรัฐมนตรีนาเรนทรา โมดี” แห่งอินเดีย ให้ความสำคัญกับขนบธรรมเนียมวิถีชีวิตของอินเดียสู่แนวทางกลมกลืนกับธรรมชาติ และมีความพยายามอย่างสูงในการเพิ่มพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน ประสิทธิภาพด้านพลังงาน รวมถึงการปลูกป่า และส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ เฉพาะการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีการกำหนดแผนอย่างชัดเจน คาดว่ากำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนของอินเดียจะเพิ่มขึ้นจากสัดส่วนปัจุบันร้อยละ 41 (170 GW) ของกำลังการผลิตทั้งหมด (415 GW) เป็นร้อยละ 85 (1,125 GW) ของกำลังการผลิตทั้งหมด (1,325 GW) ภายในปี พ.ศ.2590
อินเดียได้พัฒนาระบบนิเวศที่แข็งแกร่งเกี่ยวกับการซื้อ ขนส่ง และจำหน่ายไฟฟ้าโดยทั่วไปในประเทศ มีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าในประเทศ โดยมีบริษัทจำหน่ายไฟฟ้า (Discoms) 4 ประเภท ประกอบด้วย
บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าที่มีรัฐบาลเป็นเจ้าของ 100%
บริษัทร่วมทุนกับรัฐท้องถิ่น สัดส่วนการถือหุ้นของเอกชนและรัฐ 51:49
บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าที่เอกชนเป็นเจ้าของ 100%
การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นเเฟรนไชส์ของบริษํทจำหน่ายไฟฟ้าที่เป็นของรัฐ
ขณะที่ภาคการจัดจำหน่ายและการค้าปลีก เป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญที่สุดในห่วงโซ่คุณค่า โดยภาคส่วนนี้ทำหน้าที่ประสานกับผู้ใช้ไฟฟ้าปลายทางและสร้างรายได้ ส่วนการจำหน่ายไฟฟ้าของอินเดียให้บริการแก่ผู้บริโภค 250 ล้านคนโดยประมาณและมีระบบจ่ายไฟฟ้าประมาณ 73 แห่ง แม้จะอินเดียจะเคยเป็นประเทศที่ขาดแคลนไฟฟ้า แต่ปัจจุบันพบว่ามีแนวโน้มที่จะพัฒนาขึ้น
ข้อมูลของการไฟฟ้ากลางของอินเดียแสดงให้เห็นว่าพลังงานที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งรวมถึง พลังงานน้ำ พลังงานนิวเคลียร์ และพลังงานหมุนเวียน คิดเป็นร้อยละ 25.3 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของอินเดียในปีงบประมาณที่สิ้นสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 24.6 เมื่อ 3 ปีก่อน โรงไฟฟ้าพลังความร้อนยังคงจ่ายไฟได้ร้อยละ 73 ของไฟฟ้าที่ใช้ ลดลงจากประมาณร้อยละ 75 ในปี พ.ศ.2562 และสิ่งที่เร็วกว่าคาดการณ์สะท้อนผ่านอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอินเดียลดลง 1 ใน 3 ในรอบ 14 ปี โดยลดลงร้อยละ 33 ใน 14 ปี เป็นการลดลงตามการเพิ่มขึ้นของการผลิตพลังงานหมุนเวียนและพื้นที่ป่า
เร็วกว่าคาด “อินเดีย” ลดก๊าซเรือนกระจกลง 1 ใน 3 รอบ 14 ปี สู่เป้าสหประชาชาติ
ล่าสุดอินเดียมีเป้าหมายเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานสะอาดสูงถึง 500 กิกะวัตต์ (GW) ภายในปี พ.ศ.2573 ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ 280 GW พร้อมตั้งเป้าผลิตพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน 50% เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ.2613 (ค.ศ.2070) เส้นทางที่ยาวไกลกับสิ่งที่อินเดียกำลังทำ
เป้าหมายนี้จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าย้อนกลับไปดูจะพบว่าที่ผ่านมาอินเดียได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งลดการปลดปล่อยคาร์บอน โดยเฉพาะการลดกำลังการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและหันมาลงทุนกับพลังงานหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น
อ่านต่อได้ที่ : ฐานเศรษฐกิจ